เงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน

Photo by David McBee on Pexels.com

ในปัจจุบันเงินเป็นสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน มักมีคำพูดว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ซื้อความปลอดภัยให้กับคนที่เรารักได้” หรือ “เงินซื้อเราไม่ได้… หากไม่หากพอ” เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความต้องการหลายอย่างมากที่ไม่สามารถเติมเต็มด้วยตนเองได้ และเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้องการได้ แต่ว่าเงินมาจากไหน อะไรเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเงินนั้น

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ซึ่งคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงว่าคนเราต้องการสิ่งของสินค้าและบริการต่างหาก แต่เรากำหนดร่วมกันว่าให้ใช้เงินในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเงินนั้นอาจจะอุปโลกขึ้นมาเองก็ได้

ตำราเศรษฐศาสตร์มักเล่าจุดกำเนิดของเงินจากสังคมแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเงิน เมื่อไม่มีเงิน ผู้คนต่างต้องสรรหาสินค้าและบริการเพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ต้องหาผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนให้พบ และต้องกำหนดราคาซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของสินค้าและบริการต่างๆ และต้องรีบตามหากันจนเจอก่อนที่สินค้าที่มีจะสูญสลายไปในที่สุด คนมีปลาอยากแลกข้าว แต่คนมีข้าวอยากแลกเกลือ มีแค่ 2 คนก็แลกกันไม่ได้ หากมีพบคนมีเกลือที่อยากแลกปลา ก็จะทำให้คนมีปลาแลกข้าวได้ในที่สุดเมื่อแลกวนกันไประหว่างกัน 3 คน

แค่มีปลา ข้าว และเกลือ ก็ยุ่งยากขนาดนี้แล้ว หากมีสินค้าและบริการที่ต้องการมากกว่านี้ และมีคนมากกว่านี้ กว่าจะหากันจนเจอแล้วแลกกันได้ครบก็คงวุ่นวาย ใครมีปลาก็รีบต้องหน่อย ก่อนที่ปลาจะหายสดหรือเน่าไป ส่วนใครมีเกลือก็ไม่ต้องรีบมาก (แต่ก็อย่าให้นานเกินไปจนเกลือเป็นหนอน) การที่มีเงินจึงทำให้ต่างคนต่างสามารถใช้เงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการหากันให้เจอ และขอเพียงประเมินมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยเงินได้ ไม่ว่าบริการอะไรที่คนให้ค่าก็เกิดขึ้นได้อย่างง่าย นักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องหาปลาเป็น นักกีฬาก็ไม่จำเป็นต้องปลูกข้าว เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องหาความรู้ด้านการแพทย์ และคนขายปลาไม่ต้องเป็นคนตกปลาก็ยังได้ ทำให้เกิดอาชีพขึ้นหลากหลายในสังคมและสามารถลดข้อจำกัดด้านระยะทาง ทำให้สามารถแผ่ขยาย Supply Chain ได้ เพราะเงินสามารถซื้อทุกสิ่งได้ในระบบเศรษฐกิจจากทุกที่ (ที่เงินนั้นได้รับการยอมรับ)

การใช้เงินเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) และหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) ในการกำหนดราคาจึงทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องหาสินค้าและบริการมาแลกกัน สามารถขายสินค้าหรือให้บริการแลกกับเงินซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ (store of value) ในที่สุด ทำให้เงินที่ถูกใช้กันแพร่หลายมักมีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้ และแต่ละสังคมจึงได้ตกลงร่วมกันว่าจะใช้สิ่งใดแทนเงิน ซึ่งมักจะเป็นของที่สวยงาม เช่น ทองคำ เป็นที่ต้องการ เช่น ก้อนชา มีความคงทน เช่นเกลือ และหายากมากพอ ทำให้คนยอมรับได้ว่าคนที่หาเงินมาได้ก็สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยได้

Leave a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s