Blog

มาตรฐานช่วยสร้างการยอมรับ

กระดาษในยุคแรกทำจากกัญชง แต่เมื่อมีความต้องการมากจึงได้มีพัฒนาการเพื่อลดเวลาและต้นทุนในกระบวนการผลิต จากกัญชงมาสู่หวาย และจากหวายมาสู่ไผ่ซึ่งมีอยู่แพร่หลายและโตได้เร็ว เดิมทีการใช้งานกระดาษจำเป็นต้องวาดและเขียนด้วยพู่กัน แต่ในช่วงราชวงศ์ถังศตวรรษที่ 7 พิมพ์แกะไม้ (woodblock printing) ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การใช้งานกระดาษเพิ่มมากขึ้นด้วย และก็มีการใช้กระดาษเป็นสื่อในการเก็บกำลังซื้อของเงินเหมือนกัน ในยุคนั้น ชาวจีนก็ยังพึ่งพาเงินเหรียญทองแดงอยู่ แม้ว่าการเจาะรูตรงกลางจะทำให้สามารถร้อยเงินแล้วพกพาได้ง่าย แต่ทองแดงก็มีน้ำหนักและเหรียญเองก็ไม่ได้มีมูลค่าสูงมาก การพกพาจำนวนมากจึงทั้งหนักและเทอะทะ ไม่สะดวกกับการเดินทางระยะไกล และยังเสี่ยงต่อการถูกปล้นชิงอีกด้วย จึงมีกลุ่มพ่อค้ารับฝากเงินแล้วออกใบเสร็จรับฝากให้เพื่อนำขึ้นเงินที่ปลายทาง ก็เกิดความสะดวกสบายขึ้น กระดาษนี้เรียกกันว่า “เงินปลิว” (飛錢) เพราะเบามากจนปลิวได้ ครั้งแรกออกมาโดยไม่ได้มีความตั้งใจให้เป็นเงิน แต่เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกกันเองในหมู่พ่อค้าเท่านั้น เป็นหนี้สินระหว่างผู้ออกกระดาษและผู้ถือกระดาษ เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลาย จีนได้แตกออกเป็นออกเป็นอาณาจักรเล็กน้อยมากมาย การที่แต่ละอาณาจักรมีสินแร่ไม่เท่ากัน ทำให้ปริมาณทองแดงไม่พอ ต้นทุนในการผลิตเงินสูงขึ้น เหล็กจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตเหรียญเช่นกัน คล้ายกับสมัยยุคราชวงศ์ซ่ง พ่อค้าในแถบมณฑลเสฉวนก็พิมพ์เงินกระดาษเพื่อเป็นใบรับฝากเหรียญอีกเช่นกัน ในยุคนี้ใช้ชื่อแตกต่างกันเพื่อเรียกเงิน (交子) และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกระดาษนี้อย่างกว้างขวางขึ้นและใช้เพื่อชำระหนี้ได้ จึงทำให้กระดาษมีความคล้ายเงินมากขึ้น แต่กระดาษของพ่อค้าแต่ละรายก็ไม่ได้มีมาตรฐาน บ้างก็มูลค่ามาก บ้างก็มูลค่าน้อย จนกระทั่งกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่รวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานจนกลายมาเป็นธนบัตรกระดาษ (交子戶) ที่มีหน่วยชัดเจน ซึ่งแม้ว่าจะพิมพ์โดยเอกชน แต่ก็ใช้กันแพร่หลายจนได้รับการยอมรับจากภาครัฐ นอกจากนำมาแลกเหรียญทองแดงแล้ว ธนบัตรกระดาษในยุคนั้นสามารถนำไปแลกตั๋วเว้นภาษี (度牒) ทองคำ และแร่เงินได้ ทำให้เป็นที่นิยมกันในวงกว้างมากกว่าแค่หมู่พ่อค้า…

นานแค่ไหนมนุษย์ถึงเริ่มใช้เงินกระดาษ

เงินสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมักมีความหายาก การสร้างความยอมรับในมูลค่าจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเพราะไม่สามารถผลิดขึ้นมาได้เองโดยง่าย แต่เมื่อสังคมได้ยอมรับมูลค่าของสิ่งนั้นไปแล้วแต่ด้วยคุณลักษณะทางกายภาพของวัสดุบางประเภทจึงทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน ตัวอย่างของเงินก้อนหิน rai stone จึงเป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนสื่อที่เก็บมูลค่า แปลงรูปแบบของเงินไปเป็นเงินบัญชี (account-based money) ส่วนตัวอย่างของเหรียญจึงเป็นเแปลงสภาพวัสดุให้มีขนาดย่อลงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งย่อยของมูลค่า แต่ก็ยังคงความเป็นเงินสัญลักษณ์ไว้ (token-based money) แต่หากมนุษย์ยอมรับการเก็บข้อมูลในสื่อรูปแบบใหม่ได้ เราสามารถสร้างสื่อด้วยวัสดุใหม่เพื่อให้ยังคงความเงินสัญลักษณ์ โดยที่มูลค่าไม่ได้มาจากตัววัสดุที่ใช้เป็นสื่อแต่อ้างอิงจากกำลังซื้อที่อยู่ที่อื่นได้หรือไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินบนแผ่นดินเหนียว ที่มา: Unknown artist – Marie-Lan Nguyen (2005) อักษรรูปลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) เกิดขึ้นราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลในดินแดนเมโสโปเตเมีย เป็นต้นแบบของการบันทึกข้อมูลที่นำมาสู่ตัวอักษร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าแผ่นดินเหนียวมาการใช้มานานกว่า 8,000 ก่อนคริสตกาล แต่มักใช้เพื่อการนับ ตัวอักษรทำให้ความสามารถในการสื่อสารผ่านการเขียนและบันทึกข้อมูลสามารถเล่าเรื่องราวที่ลุ่มลึกได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงธุรกรรมที่มีระหว่างกันด้วย เช่น การกู้ยืม สัญญาซื้อขาย หลักฐานความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงประกาศกติกาที่มีระหว่างกันในสังคม เป็นต้น การบันทึกข้อมูลความเป็นเจ้าของเงินก้อนหินลงในความทรงจำร่วมของคนในหมู่บ้าน ทำให้สามารถแปลงรูปแบบและสื่อของเงินได้ แต่ความสามารถในการบันทึกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นเงิน เพราะแผ่นดินเหนียวอาจไม่ได้สะดวกต่อการพกพาและใช้งาน ความสะดวกสบายของสื่อใหม่ที่จะนำมาใช้งานจึงส่งผลต่อการยอมรับด้วย ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์คิดค้นการผลิตกระดาษปาปิรุส แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำมาใช้แทนเงิน แต่กลับขายกระดาษที่ผลิตได้แทน เพราะยุคนั้นชาวอียิปต์ใช้ผลิตผลทางเกษตรแทนเงิน…

เหรียญเปลี่ยนชีวิต

เรื่องราวความเป็นเจ้าของก้อนหิน rai stone ที่เล่าสืบต่อกันอาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในหมู่บ้านหนึ่ง แต่เมื่อข้ามไปอีกหมู่บ้านหนึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับก็ได้ การพึ่งพาเงินข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างได้ก็ต่อเมื่อฐานข้อมูลสามารถทำงานข้ามกันได้ (interoperable) ทำให้เงินสัญลักษณ์ (token-based money) มีความจำเป็น แต่หากเงินก้อนหินสามารถแปลงสภาพกลายเป็นเงินที่อิงความเป็นเจ้าของในก้อนหินได้ เงินสัญลักษณ์ประเภทอื่นสามารถแปลงสภาพได้หรือไม่ ในยุคที่ทองคำเป็นเงิน ปัญหาที่มักพบคือทองคำมีมูลค่าที่สูงเทียบกับปริมาตร หากทองคำถูกแปรรูปเป็นแท่ง (bullion) การนำทองคำแท่งมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจเกินความจำเป็น เพราะสิ่งที่ซื้ออาจไม่ได้มีมูลค่าสูงเท่าทองคำแท่งนั้น แต่หากพ่อค้าแม่ค้าจะทอนให้ จะทอนด้วยอะไรหากเงินในระบบเศรษฐกิจนั้นมีแต่ทองคำแท่ง หน่วยเงินที่ย่อยที่สุดจะเป็นเครื่องกำหนดราคาและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงราคา หากประเทศไทยมีแต่เงินสด และการเหรียญขั้นต่ำมีแต่เหรียญ 5 บาทเท่านั้น การปรับราคาขั้นต่ำในแต่ละครั้งก็ต้องปรับทีละ 5 บาท การชำระเงินขั้นต่ำก็ต้องทีละ 5 บาท หากต้องการขายที่ราคาต่ำกว่า 5 บาทก็คงต้องขายครั้ง ๆ ละหลาย ๆ ชิ้น ปัญหาเหล่านี้ได้หมดไปแล้วในบริบทของปัจจุบัน แต่ในอดีต ความไม่สะดวกในการชำระเป็นอุปสรรคที่นำมาซึ่งนวัตกรรมมากมาย เหรียญที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกคือเหรียญของอาณาจักรลิเดีย (บริเวณตะวันตกในประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ในยุค 600 ปีก่อนคริสตกาล เป็นเหรียญที่หลอมมาจากทองคำและเงินแท้ ในยุคนั้นมีเหรียญหลายขนาด แบ่งเสี้ยว (division / fractionalization) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันหรือเพื่อการเก็บออมในฐานะรักษามูลค่า…

พูดได้ก็จ่ายได้

ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอลกล่าวว่าความอัศจรรย์ของมนุษย์ (Sapiens) คือความสามารถในการสร้างและเชื่อในเรื่องราว (fiction) ซึ่งทั้งบุญคุณและเงินสัญลักษณ์ก็เป็นเรื่องราวที่เล่าขานและยึดถือให้เป็นจริงได้ (social construct) การเปลี่ยนเรื่องราวของมูลค่าและกำลังซื้อให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการบันทึกและสื่อสารข้อมูล ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านความทรงจำก็ถือเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ส่วนเงินสัญลักษณ์ในยุคแรกก็เป็นการพึ่งพาวัตถุตามธรรมชาติแทนการสื่อสาร เมื่อพิจารณาในมุมนี้ เมื่อสังคมได้ตกลงแล้วว่าจะเล่าสู่เรื่องราวนั้นต่ออย่างไร สิ่งนั้นก็ถือเป็นเงินในสังคม แต่อย่างที่ได้เห็น เงินสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีความสะดวกในการใช้งานแตกต่างกัน ก้อนหิน rai stone ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ชาวหมู่เกาะ Yap ในมหาสมุทรแปซิฟิคใช้แทนเงิน ก้อนหินนี้เป็นหินปูนที่อยู่บนเกาะหนึ่งห่างไปหลายร้อยไมล์ และชาวเกาะก็ได้แกะสลักหินปูนนี้เป็นแผ่นหินแล้วนำข้ามทะเลกลับมาอย่างลำบากคล้ายกับการขุดทองคำ เนื่องจากก้อนหินนั้นใหญ่มาก การจะพกติดตัวหรือแค่เคลื่อนก็เป็นเรื่องลำบาก ทำให้ชาวบ้านตกลงกันว่าไม่ต้องขยับหินก็ได้ ขอแค่แจ้งให้ชาวบ้านได้รู้ร่วมกันว่าตอนนี้ก้อนหินนี้เป็นของใคร ใครได้โอนให้ใครแล้ว ก็สามารถตกลงปากเปล่ากันก็ได้ ซึ่งหากสามารถเชื่อถือในข้อมูลอย่างนี้ได้แล้ว จริง ๆ แล้วเหรียญนั้นไม่ต้องอยู่ในหมู่บ้านก็ยังได้ เล่ากันว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง เรือที่นำก้อนหินปูนแกะสลักกลับมาได้อับปางเพราะพายุ ทำให้ก้อนหินนั้นจมลงอยู่ที่ก้นมหาสมุทร แต่เมื่อชาวบ้านกลับมายังหมู่บ้านแล้วได้เล่าเรื่องราวนี้ ทุกคนก็ตกลงกันว่าให้ถือว่าก้อนหินนั้นมีอยู่จริงและสามารถส่งต่อให้กันด้วยวาจาได้ การที่ชาวเกาะตกลงกันได้โดยปากเปล่าคล้ายกับกรณีของเงินบุญคุณ แต่เนื่องจากบุญคุณมักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคนรู้จักกัน การประเมินมูลค่าของบุญคุณระหว่างคนนอกจึงเป็นเรื่องยากเพราะหากตาชั่งที่ใช้วัดมูลค่า  แม้จะมีบัญชีในจินตนาการระหว่างกัน แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับชำระ ค่าในบัญชีก็ไม่มีความหมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายเหตุ เช่น ผู้จะใช้เงิน จริง ๆ…

พื้นฐานของธุรกิจคือการสร้างความมั่นใจ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ชอบความเสี่ยงโดยธรรมชาติ เมื่อเจอความเสี่ยงมักเลี่ยงหรือเผชิญหน้าด้วยความไม่เต็มใจ หากเราไม่มั่นใจว่าอาหารตรงหน้าปลอดภัยและอร่อยหรือไม่ เราอาจไม่กล้าชิม หรือหากจะให้ซื้อก็คงไม่ยินดีจะจ่ายสักเท่าไร ความมั่นใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรือการลงทุน ซึ่งรวมถึงเรื่องเงินเช่นกัน สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น… การที่เงินสามารถสัมผัสได้ทำให้ข้อมูลกำลังซื้อเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องจดจำหนี้สินระหว่างกัน ไม่จำเป็นต้องมีการผูกมัดสัญญา ขอเพียงยอมรับในมูลค่าของเงินนั้น เราก็สามารถนำไปใช้แลกสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และหากสิ่งที่นำมาใช้แทนเงินมีความคล้ายกันมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หรือคุณภาพ เช่น ทองคำ ก้อนชา สิ่งที่นำมาใช้แทนเงินก็สามารถกลายเป็นหน่วยวัดข้อมูลหรือสกุลเงินไปโดยปริยายได้ด้วย ในการเงิน เราเรียกเงินสัญลักษณ์ (token-based money) เช่นนี้ว่า bearer instrument หมายความว่าผู้ถือคือเจ้าของ ไม่จำเป็นต้องถามว่าได้มาจากใคร ไม่ได้ผูกติดอยู่กับฐานข้อมูลไหนเพราะข้อมูลของความเป็นเงินถูกผนวกอยู่กับสิ่งที่ใช้แทนเงิน เมื่อยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็น “ของแท้” การทำให้กำลังซื้อกลายเป็นสัญลักษณ์ทางกายภาพขึ้นมาจึงถือเป็นการสร้างความมั่นใจที่สำคัญ ทำให้ผู้คนกล้ายอมรับมากขึ้น เงินและสกุลเงินจึงเป็นเรื่องเดียวกัน การสร้างความมั่นใจด้วย จึงเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างกันง่ายขึ้น การใช้เงินสัญลักษณ์มีความสะดวกในการพกพาและชำระ ไม่ต้องมาคอยหักลบกลบหนี้ระหว่างกันให้วุ่นวาย ทำให้เกิดการค้าขายกันได้สะดวกขึ้น นอกจากจะเกิดภาษากลางในการสื่อสารขึ้นแล้ว การใช้เงินสัญลักษณ์ที่อิงจากทองคำในยุคกลางจึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างรวดเร็วในยุคนั้น

ป.ปลา นั้นหายาก ต้องลำบากออกเรือไป

ขนส่งจากแดนไกล ใช้น้ำแข็ง เปลืองน้ำมันแช่เย็นก็เสียไฟ หุงต้มไซร้แก๊สทั้งนั้น พลังงานต้องหมดกัน โอ้ลูกหลานจำจงดี เมื่อมนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารและเดินทาง การติดต่อค้าขายก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น โลกของแต่ละคนก็ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อระยะทางลดลงและสามารถเชื่อมถึงกันได้ง่ายขึ้น คำว่า Lingua Franca แปลว่าภาษากลาง แต่แปลตรงตัวว่าภาษาชาวแฟรงค์ ซึ่งเป็นชนเผ่าในทวีปยุโรปตะวันตกที่ชอบเดินทาง มีนิสัยจริงใจ ชอบพูดตรง ๆ ซึ่งหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันก็ได้รวมตัวกันสร้างอาณาจักร Francia ซึ่งกลายมาเป็นประเทศฝรั่งเศสในที่สุด แต่ในยุคนั้นอิทธิพลของ Francia แผ่ขยายมาก คำว่า frank ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าคนตรง ๆ ไปจนถึงชื่อของเมือง Frankfurt ก็ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรนี้ และอาจเป็นที่มาว่าทำไมไม่ได้มีแต่คนไทยที่เรียกชาวตะวันตกผิวขาวว่า “ฝรั่ง” ยุโรปยุคกลางเป็นยุคของนครรัฐและอาณาจักร ยังไม่มีแนวคิดเรื่องประเทศ แต่ละท้องถิ่นมีภาษาและวัฒนธรรมของตน แต่เมื่อมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายอยู่ในดินแดนที่เชื่อมต่อกับทางบก จึงสามารถเดินทางและติดต่อค้าขายกันได้โดยง่าย ด้วยประสบการณ์และความสามารถของรวมกับแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของคนค้าขาย การประเมินค่าของสินค้าและเจรจาเพื่อต่อรองราคาแลกเปลี่ยนสามารถทำได้เสมอ แม้สื่อสารกันคนละภาษา แต่หากเงินเป็นที่ยอมรับก็สามารถแลกเปลี่ยนได้ง่าย แม้ว่าเงินจะเป็นไม่เป็นที่ยอมรับ ขอเพียงต่างฝ่ายต่างสามารถยื่นหมูยื่นแมวได้ ถึงจะต้องยากลำบากแค่ไหน มีต้นทุนเท่าไรเพื่อการขนส่งจากแดนไกล แต่หากทำกำไรได้ การค้าก็เกิดขึ้นได้เพราะนั่นคืออาชีพของพวกเขา นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้ภาษากลางถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเพราะสงครามครูเสดที่เหล่าผู้ศรัทธาในคริสตจักรออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังตะวันออกกลางเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากกองทัพครูเสดประกอบด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างอาณาจักร ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา แต่จำเป็นต้องสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้เพราะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ต่างกับพ่อค้าที่มีเวลาในการเจรจาแม้จะไม่รู้ภาษาก็ตาม…

เงิน = ทอง

บุญคุณคือหนี้สินระหว่างกันรูปแบบหนึ่ง ซึ่งภายใต้บางสถานการณ์สามารถนำมาใช้แทนเงินได้ อันที่จริงแล้ว เงินที่เราใช้กันแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วก็เป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเหมือนกัน John Pierpont Morgan ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งธนาคาร JP Morgan ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Gold is money. Everything else is credit.”  การที่ J. P. Morgan ได้จำแนกทองคำออกมา แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นเงินมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบอาจไม่ได้ทดแทนกันได้เสมอไป ในยุคที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญามีข้อจำกัด กำลังซื้อที่เก็บในรูปแบบข้อมูลนามธรรม (pure information) เช่นความทรงจำจึงไม่สามารถแพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง กำลังซื้อจึงจำเป็นต้องผนวกอยู่กับสื่อกลางทางกายภาพ เช่น ทองคำ ทำให้ข้อมูลนั้นเป็นรูปธรรม เมื่อเป็นของมีค่าที่สามารถจับต้องได้ ไม่ถูกปลอมแปลงบิดเบือนได้ง่าย สามารถยืนยันการมีอยู่ได้ การยอมรับในคุณค่าจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น คล้ายกับการที่งานศิลปะที่จับต้องได้มักมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับมากกว่างานศิลปะดิจิทัล ในยุคที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญามีข้อจำกัด กำลังซื้อที่เก็บในรูปแบบข้อมูลนามธรรม (pure information) เช่นความทรงจำจึงไม่สามารถแพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องนำกำลังซื้อมาผนวกกับสื่อกลางทางกายภาพ เช่น ทองคำ ทำให้ข้อมูลนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อเป็นของมีค่าที่สามารถจับต้องได้ ไม่ถูกปลอมแปลงบิดเบือนได้ง่าย สามารถยืนยันการมีอยู่ได้ การยอมรับในคุณค่าจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ดูแล้วคล้ายกับการที่แม้แต่ในปัจจุบัน งานศิลปะที่จับต้องได้ก็ยังมักมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับมากกว่างานศิลปะดิจิทัล…

บุญคุณ (ทำไม) ต้องทดแทน

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องทองคำ อยากชวนผู้อ่านคิดว่า บุญคุณระหว่างคนห่างคนไกล ไม่รู้จักกัน ทำไมเราถึงต้องรับทดแทนด้วย บุญคุณมักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคนรู้จักกัน การรับชำระทดแทนบุญคุณระหว่างคนในจึงเป็นเรื่องง่าย แต่หากเราเป็นคนนอกที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรด้วย ทำไมจะต้องทดแทนบุญคุณที่ใครบางคนสร้างขึ้นกับคนอื่น และทำไมผู้อื่นจะต้องยอมรับบุญคุณใหม่ที่เราได้สร้างขึ้นด้วย เมื่อบุญคุณเป็นสิ่งที่โอนให้กันไม่ได้ง่าย ๆ การใช้บุญคุณแทนเงินจึงมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถใช้ชำระได้อย่างแพร่หลาย หากพิจารณาบุญคุณเป็นสัญญาระหว่างกัน แม้ว่าคนในจะยอมรับให้สามารถนำมาแลกเป็นกำลังซื้อได้ แต่คนนอกก็ไม่มีความจำเป็นต้องยอมรับรู้หรือทำตามสัญญานั้นเลยถ้าไม่ได้กฏกติกาใด อุปสรรคเกิดขึ้นทันทีหากเราไม่มีความสามารถในการผูกมัดสัญญานั้นระหว่างคนนอก (limited commitment) และแม้ว่าเขายินดีจะรับทดแทนบุญคุณ เขาอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเคยมีบุญคุณนั้นเกิดขึ้นจึงไม่กล้ารับการทดแทนบุญคุณนั้น การจดจำบุญคุณระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ (perfect memory) จึงไม่ได้มีความหมายแค่ระหว่างคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงระหว่างทุกคนในสังคมอีกด้วย (perfect record keeping) ข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญาทำให้บุญคุณและข้อมูลที่คล้ายกันไม่สามารถนำมาใช้แทนเงินได้เมื่ออยู่ในสังคมที่มีคนจำนวนมากและมีคนหน้าใหม่ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา นักประวัติศาสตร์พบว่ามีบางสังคมในโลกนี้ใช้บุญคุณแทนเงิน เช่น สังคมชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ แต่นั่นเป็นเพราะมีคนอยู่ไม่มากและสามารถกำหนดกติกาเรื่องบุญคุณระหว่างกันได้ไม่ยากนัก หากเป็นคนต่างถิ่นที่ไม่เข้าใจในกติกานี้ก็จะทำให้เกิดการติดต่อค้าขายกันได้ยาก แต่ในส่วนถัดไปจะชวนคิดว่าหากไม่เข้าใจในกติกา สื่อสารกันไม่ได้ ทำให้ค้าขายไม่ได้จริงหรือ หากต้องการเงินที่สะดวกต่อการใช้งานอย่างแพร่หลาย ก็สามารถกล่าวได้ว่า UX (user experience) ของเงินข้อมูลในยุคนั้นช่างนั้นไม่ดีเสียเลย (ส่วน user interface หรือ UI แทบไม่ต้องพูดถึง) เพราะฐานข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจาย (fragmented databases) มีเนื้อหาของข้อมูลหลากหลาย…

บุญคุณต้องทดแทน

หากเงินเป็นสิ่งที่แลกสินค้าและบริการได้ แล้วบุญคุณล่ะ สามารถใช้แลกได้หรือไม่ มักมีคำสอนว่าว่า “บุญคุณต้องทดแทน” (ส่วนแค้นก็ให้อภัยกันไป…) การทดแทนบุญคุณกันถือว่าเป็นการชำระแทนเงินได้หรือไม่ คนมีปลาที่อยากแลกข้าว หากมีเงิน ก็สามารถใช้เงินซื้อข้าวได้ แต่หากมีบุญคุณ ก็น่าจะสามารถนำบุญคุณมาแลกข้าวได้ โดยที่ผู้ให้ข้าวก็จะถือเป็นผู้ที่ได้สร้างบุญคุณแล้ว สามารถสะสมแต้มบุญคุณเพื่อนำไปใช้ต่อได้ หากเราคิดว่าบุญคุณมีค่าและบุญคุณคงทน (store of value) บุญคุณจำเป็นต้องเป็นหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) หรือไม่ เรามาเริ่มจากคำถามแรกกันก่อน การเป็นหน่วยวัดทางบัญชีนั้น จริงๆ แล้วสิ่งใดก็สามารถนำมาใช้เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ในต้นศตวรรษที่ 20 หลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกาก็ใช้แพะและวัวเป็นหน่วยวัดทางบัญชี ราคาของสินค้าต่าง ๆ มีอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบเป็นแพะหมดโดยที่ไม่จำเป็นต้องชำระเป็นแพะ และใช้สิ่งอื่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) ก็ได้ บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่สิ่งใดก็ตาม ขอแค่วัดปริมาณได้ก็สามารถใช้เป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งในกรณีนี้จะเรียกว่าเป็น Goat Standard หรือ “มาตรฐานแพะ” คล้าย Gold Standard ก็ได้ (มาตรฐานทองคำที่ตรึงมูลค่าของเงินผ่านปริมาณทองคำ ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป)…

เงินคืออะไร ทำไมต้องมีเงิน

ในปัจจุบันเงินเป็นสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน มักมีคำพูดว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ซื้อความปลอดภัยให้กับคนที่เรารักได้” หรือ “เงินซื้อเราไม่ได้… หากไม่หากพอ” เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความต้องการหลายอย่างมากที่ไม่สามารถเติมเต็มด้วยตนเองได้ และเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้องการได้ แต่ว่าเงินมาจากไหน อะไรเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับเงินนั้น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ซึ่งคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงว่าคนเราต้องการสิ่งของสินค้าและบริการต่างหาก แต่เรากำหนดร่วมกันว่าให้ใช้เงินในการแลกเปลี่ยน ซึ่งเงินนั้นอาจจะอุปโลกขึ้นมาเองก็ได้ ตำราเศรษฐศาสตร์มักเล่าจุดกำเนิดของเงินจากสังคมแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเงิน เมื่อไม่มีเงิน ผู้คนต่างต้องสรรหาสินค้าและบริการเพื่อแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ต้องหาผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนให้พบ และต้องกำหนดราคาซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของสินค้าและบริการต่างๆ และต้องรีบตามหากันจนเจอก่อนที่สินค้าที่มีจะสูญสลายไปในที่สุด คนมีปลาอยากแลกข้าว แต่คนมีข้าวอยากแลกเกลือ มีแค่ 2 คนก็แลกกันไม่ได้ หากมีพบคนมีเกลือที่อยากแลกปลา ก็จะทำให้คนมีปลาแลกข้าวได้ในที่สุดเมื่อแลกวนกันไประหว่างกัน 3 คน แค่มีปลา ข้าว และเกลือ ก็ยุ่งยากขนาดนี้แล้ว หากมีสินค้าและบริการที่ต้องการมากกว่านี้ และมีคนมากกว่านี้ กว่าจะหากันจนเจอแล้วแลกกันได้ครบก็คงวุ่นวาย ใครมีปลาก็รีบต้องหน่อย ก่อนที่ปลาจะหายสดหรือเน่าไป ส่วนใครมีเกลือก็ไม่ต้องรีบมาก (แต่ก็อย่าให้นานเกินไปจนเกลือเป็นหนอน) การที่มีเงินจึงทำให้ต่างคนต่างสามารถใช้เงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการหากันให้เจอ และขอเพียงประเมินมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยเงินได้ ไม่ว่าบริการอะไรที่คนให้ค่าก็เกิดขึ้นได้อย่างง่าย นักเขียนก็ไม่จำเป็นต้องหาปลาเป็น นักกีฬาก็ไม่จำเป็นต้องปลูกข้าว เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องหาความรู้ด้านการแพทย์ และคนขายปลาไม่ต้องเป็นคนตกปลาก็ยังได้ ทำให้เกิดอาชีพขึ้นหลากหลายในสังคมและสามารถลดข้อจำกัดด้านระยะทาง…

Loading…

Something went wrong. Please refresh the page and/or try again.