พูดได้ก็จ่ายได้

Photo by Andrea Piacquadio on Pexels.com

ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอลกล่าวว่าความอัศจรรย์ของมนุษย์ (Sapiens) คือความสามารถในการสร้างและเชื่อในเรื่องราว (fiction) ซึ่งทั้งบุญคุณและเงินสัญลักษณ์ก็เป็นเรื่องราวที่เล่าขานและยึดถือให้เป็นจริงได้ (social construct)

การเปลี่ยนเรื่องราวของมูลค่าและกำลังซื้อให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการบันทึกและสื่อสารข้อมูล ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านความทรงจำก็ถือเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ส่วนเงินสัญลักษณ์ในยุคแรกก็เป็นการพึ่งพาวัตถุตามธรรมชาติแทนการสื่อสาร เมื่อพิจารณาในมุมนี้ เมื่อสังคมได้ตกลงแล้วว่าจะเล่าสู่เรื่องราวนั้นต่ออย่างไร สิ่งนั้นก็ถือเป็นเงินในสังคม

แต่อย่างที่ได้เห็น เงินสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีความสะดวกในการใช้งานแตกต่างกัน ก้อนหิน rai stone ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ชาวหมู่เกาะ Yap ในมหาสมุทรแปซิฟิคใช้แทนเงิน ก้อนหินนี้เป็นหินปูนที่อยู่บนเกาะหนึ่งห่างไปหลายร้อยไมล์ และชาวเกาะก็ได้แกะสลักหินปูนนี้เป็นแผ่นหินแล้วนำข้ามทะเลกลับมาอย่างลำบากคล้ายกับการขุดทองคำ

เนื่องจากก้อนหินนั้นใหญ่มาก การจะพกติดตัวหรือแค่เคลื่อนก็เป็นเรื่องลำบาก ทำให้ชาวบ้านตกลงกันว่าไม่ต้องขยับหินก็ได้ ขอแค่แจ้งให้ชาวบ้านได้รู้ร่วมกันว่าตอนนี้ก้อนหินนี้เป็นของใคร ใครได้โอนให้ใครแล้ว ก็สามารถตกลงปากเปล่ากันก็ได้ ซึ่งหากสามารถเชื่อถือในข้อมูลอย่างนี้ได้แล้ว จริง ๆ แล้วเหรียญนั้นไม่ต้องอยู่ในหมู่บ้านก็ยังได้

เล่ากันว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง เรือที่นำก้อนหินปูนแกะสลักกลับมาได้อับปางเพราะพายุ ทำให้ก้อนหินนั้นจมลงอยู่ที่ก้นมหาสมุทร แต่เมื่อชาวบ้านกลับมายังหมู่บ้านแล้วได้เล่าเรื่องราวนี้ ทุกคนก็ตกลงกันว่าให้ถือว่าก้อนหินนั้นมีอยู่จริงและสามารถส่งต่อให้กันด้วยวาจาได้

การที่ชาวเกาะตกลงกันได้โดยปากเปล่าคล้ายกับกรณีของเงินบุญคุณ แต่เนื่องจากบุญคุณมักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคนรู้จักกัน การประเมินมูลค่าของบุญคุณระหว่างคนนอกจึงเป็นเรื่องยากเพราะหากตาชั่งที่ใช้วัดมูลค่า

 แม้จะมีบัญชีในจินตนาการระหว่างกัน แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับชำระ ค่าในบัญชีก็ไม่มีความหมาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายเหตุ เช่น ผู้จะใช้เงิน จริง ๆ แล้วไม่มีสิทธิ์ในการใช้เงิน ไม่ได้เป็นเจ้าของหินตัวจริงแต่แค่อ้างสิทธิ์ว่าได้รับมอบอำนาจมาแล้ว เป็นต้น การหักลบกลบบัญชีก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เงินข้อมูลลักษณะที่ต้องมีการยืนยันตัวตนและได้รับอนุญาตก่อนจะสามารถใช้ได้จึงถูกเรียกว่าเงินบัญชี (account-based money)

การพึ่งพาเงินสัญลักษณ์ (token-based money) อย่างเช่นก้อนหินเป็นหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) จึงทำให้เกิดความสะดวกสบายขึ้น ลดต้นทุนในการประเมินมูลค่า และเมื่อการแลกเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นจากการส่งมอบก้อนหินจริง ๆ แต่เป็นข้อมูลของความเป็นเจ้าของก้อนหินนั้น ก้อนหินก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) แสดงให้เห็นว่าเมื่อเงินเป็นข้อมูลบริสุทธิ์ (pure information) แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาสื่อใดในการชำระก็ได้หากแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างอิสระและเป็นที่ยอมรับ

ในบริบทนี้ ภาษาที่ชาวเกาะใช้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีในการสื่อสารที่ทำให้สามารถส่งข้อความระหว่างกันได้ ภาษากลางของการเงินหรือสกุลเงินคือปริมาณก้อนหิน ส่วนตัวเงินคือข้อมูลความเป็นเจ้าของที่บันทึก สื่อที่ใช้บันทึกก็อาจจะเป็นความทรงจำหรือกระดานประกาศกลางหมู่บ้าน และการชำระเงินคือการส่งข้อความแจ้งให้ทุกคนได้ประจักษ์และยอมรับว่าเราได้ส่งมอบมูลค่าหรือกำลังซื้อให้กับคนอื่นเสร็จสิ้นแล้ว (settlement finality) เมื่อสามารถสื่อสารกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องพกพาก้อนหินติดตัว

เมื่อเงินถูกเก็บในรูปแบบข้อมูลบริสุทธิ์ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องจ่ายด้วยมูลค่าของก้อนหินทั้งก้อนก็ได้ หากมีระบบในการนับค่าที่สามารถแบ่งเสี้ยว (fractionalization) และมีองค์ความรู้ในการทำบัญชี ไม่ต้องแบ่งหิน ไม่ต้องมีเงินทอน ถึงสกุลเงินจะเป็นก้อนหิน แต่เงินที่ใช้กันจริง ๆ เป็นข้อมูล

สุดท้ายแล้ว เรื่องราวของก้อนหินปูนแกะสลักที่จมอยู่ในทะเลอาจเป็นเพียงตำนานเพราะไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าพยานเห็นก้อนหินนั้นจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้สำคัญอะไร หากสืบสานเรื่องราวต่อและคนในหมู่บ้านยอมรับได้ก็สามารถมีมูลค่าได้ เพราะมูลค่าของหินก้อนนั้นก็เป็นเรื่องราวที่ยึดถือให้เป็นจริงในสังคมนี้เช่นกัน ทำให้ทั้งก้อนหินและข้อมูลความเป็นเจ้าของก้อนหินนั้นถือว่าเป็นเงินนอก (outside money) ทั้งคู่ เพราะไม่ได้เป็นสัญญาระหว่างใคร แต่เป็นสัญญาใจร่วมกันระหว่างคนในสังคมทั้งหมด

Leave a comment