บุญคุณคือหนี้สินระหว่างกันรูปแบบหนึ่ง ซึ่งภายใต้บางสถานการณ์สามารถนำมาใช้แทนเงินได้ อันที่จริงแล้ว เงินที่เราใช้กันแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วก็เป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเหมือนกัน
John Pierpont Morgan ชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งธนาคาร JP Morgan ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Gold is money. Everything else is credit.” การที่ J. P. Morgan ได้จำแนกทองคำออกมา แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นเงินมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบอาจไม่ได้ทดแทนกันได้เสมอไป
ในยุคที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญามีข้อจำกัด กำลังซื้อที่เก็บในรูปแบบข้อมูลนามธรรม (pure information) เช่นความทรงจำจึงไม่สามารถแพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง กำลังซื้อจึงจำเป็นต้องผนวกอยู่กับสื่อกลางทางกายภาพ เช่น ทองคำ ทำให้ข้อมูลนั้นเป็นรูปธรรม เมื่อเป็นของมีค่าที่สามารถจับต้องได้ ไม่ถูกปลอมแปลงบิดเบือนได้ง่าย สามารถยืนยันการมีอยู่ได้ การยอมรับในคุณค่าจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น คล้ายกับการที่งานศิลปะที่จับต้องได้มักมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับมากกว่างานศิลปะดิจิทัล
ในยุคที่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและผูกมัดสัญญามีข้อจำกัด กำลังซื้อที่เก็บในรูปแบบข้อมูลนามธรรม (pure information) เช่นความทรงจำจึงไม่สามารถแพร่หลายได้อย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องนำกำลังซื้อมาผนวกกับสื่อกลางทางกายภาพ เช่น ทองคำ ทำให้ข้อมูลนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เมื่อเป็นของมีค่าที่สามารถจับต้องได้ ไม่ถูกปลอมแปลงบิดเบือนได้ง่าย สามารถยืนยันการมีอยู่ได้ การยอมรับในคุณค่าจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ดูแล้วคล้ายกับการที่แม้แต่ในปัจจุบัน งานศิลปะที่จับต้องได้ก็ยังมักมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับมากกว่างานศิลปะดิจิทัล
เงินบุญคุณเป็นหนี้สินระหว่างกัน ทำให้พอจะยอมรับได้ว่าทำไมคนที่มีเงินควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ในสังคม เพราะถือว่าได้ทำคุณประโยชน์ที่ถือว่าเป็นบุญคุณในสังคมแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกเงินที่มีลักษณะนี้ว่าเงินใน (inside money) เพราะเป็นพันธะที่ยอมรับระหว่างคนในสังคมและระบบเศรษฐกิจ บุญคุณของคนหนึ่งจึงเป็นหนี้บุญคุณของอีกคนหนึ่ง แต่ทองคำล่ะ เป็นหนี้สินของใคร ทำไมสังคมต้องยอมรับ
ทองคำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แน่นอนว่าต้องมีคนที่เหนื่อยไปร่อนหรือขุดขึ้นมา แต่ทองคำไม่ได้เป็นหนี้สินระหว่างใครกับใคร และไม่ได้เป็นบุญคุณของใครในสังคม แต่ก็เป็นน่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงยอมรับว่าคนที่มีทองคำคือคนที่ร่ำรวย เพราะทองคำไม่สามารถบริโภคได้เหมือนก้อนชา เกลือ แพะ หรือวัว ไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยทางการผลิตในประบวนการอุตสาหกรรมเหมือนในปัจจุบัน และบางอารยธรรมให้ค่าสิ่งอื่นมากกว่าทองคำด้วยซ้ำ อย่างเช่น หยก เป็นต้น
และยังมีสังคมที่ยอมรับเปลือกหอย (cowrie shell) หรือก้อนหินมหึมา (rai/fei stones) ซึ่งไม่น่าจะนำไปใช้งานได้เลยเป็นสิ่งมีค่าและนำมาใช้แทนเงินได้เหมือนกัน ทำให้เกิดคำถามว่าคุณค่าในฐานะเงินมาจากไหนหากไม่ได้เป็นหนี้สินระหว่างกัน
เมื่อมีเงินใน ก็ต้องมีเงินนอก (outside money) นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้แทนเงิน เช่น ทองคำ เปลือกหอย อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าในตัว ไม่ต้องเป็นหนี้สินระหว่างผู้ใด แต่การที่สังคมอุปโลกให้มีค่าดั่งคำกล่าวของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ว่า “เงินทองเป็นของมายา” ก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พร้อม เพราะผู้คนต่างใช้สัญลักษณ์นี้ในการทำการค้าขายกันได้อย่างสะดวกและกว้างขวาง ไม่จำเป็นต้องเชื่อในสัญญาระหว่างกัน เพราะเงินนอกถือเป็นสัญญาใจระหว่างคนในสังคมทั้งหมด